เคยสังเกตกันบ้างมั้ยคนข้าง ๆ หรือคนอื่น นั้นสดชื่นตลอดวัน หรือมีสมาธิในการทำงาน ถามอะไรตอบได้ทันทีไม่ต้องเสียเวลาคิด ดูสดใส กระปรี้กระเปร่าแอคทีฟทั้งวัน แต่เรานี้พอกินข้าวเที่ยงเสร็จสักแปป เริ่มเอื่อยๆอึนๆ ง่วงนอน หัวหนักๆแล้ว อะไรก็ไม่อยากทำ ทั้งๆที่ตอนกลางคืนนั้นเรานอนเต็มที่ นอนแปดชั่วโมงเต็ม (เผลอ ๆ เยอะกว่าชาวบ้านกว่าเค้าเยอะ ฮ่าๆ ) บ่ายก็ยังง่วง มันเป็นเพราะอะไร? แล้วอย่างงี้มีวิธีไหนบ้างที่ เติมความสดชื่น ให้คุณสดใสได้ทั้งวัน บ้างมั้ย?
วันนี้เราจึงมาแนะนำ เคล็ดลับ เติมความสดชื่น ให้คุณสดใสได้ทั้งวัน กระปรี้กระเปล่าได้ตลอดวัน
6.40 ตื่นชมแสงตะวัน
คนทั่วไปตั้งนาฬิกาปลุกก่อนเจ็ดโมงเช้าทุกวัน แต่ไม่ว่าตารางคุณจะเป็นอย่างไร ดูให้แน่ใจว่าสิ่งแรกที่ทำคือเปิดม่านออกรับแสงสว่างยามเช้า ซึ่งจัดเป็นสัญญาณธรรมชาติอันทรงพลัง ปิดสวิชท์ฮอร์โมนความง่วง เช่น เมลาโทนินและส่งการปลุกไปยังนาฬิกาในตัวของคุณ แสงอาทิตย์จะเริ่มจ้าตอนหกโมงครึ่งไปแล้ว
7.00 น. มีเซ็กส์ซักหน่อย
คุณไม่ต้องทำทุกวันหรอกนะ แต่คนที่เริ่มวันใหม่แบบนี้จะรู้สึกดีเริ่ด เพราะครึ่งชั่วโมงหลังมีเซ็กส์สมองของคุณจะตื่นตัวเนื่องจากเลือดไหลไปที่สมองเพิ่มพูนพลังงานมากขึ้น
8.00 น. ปรุงอาหารเช้าที่เหมาะเหม็ง
อาหารเช้าสุดสำคัญพลาดไม่ได้ แต่การกินผิดพลาดจะทำให้พลังงานพุ่งโลดแล้วดิ่งวูบลงทั้งวัน นักโภชนาการบอกว่าโชคร้ายที่พวกเรามักติดหนึบกับซีเรียลและขนมปังแป้งขัดขาวทาด้วยแยมหวาน อาหารเช้าที่เหมาะสมประกอบด้วยอาหารต่อไปนี้ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่
- คาร์บเชิงซ้อนหนึ่งส่วน เช่น โฮลเกรนจากแป้งบัควีทซึ่งมีวิตามินบีช่วยเพิ่มระดับพลังงาน เลี่ยงการดิ่งวูบจากการกินแป้งขัดขาว
- ไข่หรือแซลมอนรมควัน 2 ชิ้น เพราะทั้ง 2 อย่างมีโปรตีนที่กระตุ้นเซลล์โอเรซิน (ซึ่งเป็นสารควบคุมการนอนหลับ) ในสมองที่ช่วยให้เราตื่นตัว
- ผลไม้สักชิ้น เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ ซึ่งมีน้ำตาลต่ำกว่าผลไม้เมืองร้อน ดังนั้นจึงไม่ไปกระตุ้นให้พลังงานดิ่งวูบ
9.00 น. วางแผนของวันนี้แบบเรียบง่าย
ไม่ต้องเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำยาว 2 หน้าซึ่งอ่านแล้วอ่อนล้าตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ ดังนั้นเขียนงานสำคัญสุด 3 รายการที่ต้องทำให้เสร็จในวันนั้น ทำเสร็จแล้วขีดทิ้งจะได้ฉลองความสำเร็จ ถ้ามีเวลาเหลือค่อยทำรายการอีก 3 รายการ
10.30 น. เหม่อลอยออกไปนอกหน้าต่าง
การใช้เวลาทั้งวันกับทวิตเตอร์หรืออีเมล์หมายถึงการโดนกระหน่ำด้วยข้อมูลไม่ปล่อยให้สมองพัก หาเวลา 2 นาทีไม่ทำอะไรเลย ทุก ๆ ชั่วโมงครึ่งเพื่อให้สมองได้จัดการกับข้อมูลที่ล้นและฟื้นฟูตัวเอง ดังนั้นถ้าคุณเริ่มทำงานตอน 9.00 – 10.30 น. จัดเป็นเวลาเหมาะเหม็งในการใจลอยสักนิดสักหน่อย
11.30 น. ตรวจสอบพลังงาน
ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร ในเวลานี้ร่างกายของคุณควรอยู่ในสภาพตื่นตัวเต็มที่ตามสภาพธรรมชาติ ดังนั้นถ้าคุณแทบไม่เคยรู้สึกกระปรี้กระเปร่าเลยในช่วงเวลานี้ ให้ไปพบแพทย์ตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุโรคภัยต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นตัวทำลายพลังงาน
12.00 น. เน้นการหายใจ
เราหายใจวันละสองหมื่นครั้ง แต่ทำอย่างไม่ถูกต้องเสมอไป เมื่ออายุมากขึ้นจะหายใจตื้น ๆ ซึ่งจะไปเพิ่มระดับฮอร์โมนเครียดคอร์ติซอลที่มีผลในทางลบต่อความกระปรี้กระเปร่า ลองเทคนิคการหายใจต่อไปนี้
- ยืนหลังตรง ท่าสบาย ผ่อนคลาย
- สูดหายใจเข้าผ่านจมูกนับ 5 นึกภาพลูกบอลในท้องพองขึ้น
- กลั้นลมหายใจไว้ในลูกบอล 5 วินาที
- เกร็งกลางท้องบริเวณสะดือเข้าหาสันหลังนับ 8 ช้า ๆ แล้วหายใจออก
- ทำซ้ำ 10 ครั้ง
12.30 น. อาหารมื้อเที่ยง
เพื่อให้แน่ใจว่าคุณได้รับพลังงานสม่ำเสมอ ควรกินอาหารทุก 3-4 ชั่วโมง แต่อย่าหนักไปทางคาร์บซึ่งจะทำให้ง่วง เลือกเมนูสลัดจะดีกว่า สูตรอาหารต่อไปนี้เพียบไปด้วยวิตามินที่เติมความกระปรี้กระเปร่าจากถั่ว ผักโขม และมะเขือเทศซึ่งช่วยการไหลเวียนโลหิตฟาดฟันสู้อาการอ่อนล้า
13.00 น. ฟิตก่อนกลับไปทำงาน
หาที่ลับตาแก้ง่วงด้วยการยกแขนขาสลับข้างกันให้สูงสุด ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย นักค้นคว้าบอกว่าวิธีนี้ช่วยกระตุ้นความจำวัยเด็กซึ่งส่งผลกระทบให้มีพลังงานเพิ่มขึ้น
14.30 น. หยุดพักสมอง
คราวนี้ให้คิดถึงสิ่งที่คุณได้จัดการไปเพื่อให้เกิดความคิด ความรู้สึกหรือการกระทำอันมีพลังขึ้นมา ถ้าไม่มีก็คิดว่าทำอย่างไรให้มีขึ้นมาได้ในตอนบ่ายนี้ สร้างความรู้สึกและประสบการณ์สร้างสรรค์แบบที่ทำให้คุณรู้สึกมีพลังงานมากขึ้น คิดถึงสามสิ่งที่ทำให้คุณยินดีที่จะมีชีวิตอยู่ จะทำให้คุณคิดในแง่บวกซึ่งส่งผลช่วยให้มีชีวิติชีวาขึ้นมาได้
15.30 น. กินของขบเคี้ยว
โปรดจำว่ากฎคือการกินสม่ำเสมอเพื่อเติมพลังงาน คุณควรกินของว่างในตอนนี้ แต่อย่ากินน้ำตาลไม่งั้นพลังงานจะวูบดิ่งตกลงทีหลัง ของว่างเหมาะที่สุดคือโปรตีนผสมคาร์บเพื่อช่วยรักษาระดับพลังงานให้สม่ำเสมอจนถึงเวลาอาหารค่ำ
16.00 สำรวจตรวจตรา
ถ้าตอนนี้คุณเริ่มอ่อนเปลี้ยแล้วละก็ อาจเป็นเพราะสิ่งที่ทำมาตลอดวัน ให้สำรวจร่างกายดูว่ามีอันไหนที่ทำให้อ่อนล้า
ปอด ถ้าที่ทำงานไม่มีหน้าต่างให้ปิด แต่มีผู้คนหนาแน่น ตกเย็นคุณอาจรู้สึกง่วงอันเกิดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ก่อตัว ให้ปลูกต้นไม้ที่ดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ต้นสไปเดอร์
ตา ถ้าคอมพิวเตอร์คุณเล็กเกินไป ดวงตาจะล้าซึ่งทำให้เพลีย ให้ใช้เครื่องซูมจะช่วยได้เปลี่ยนฟ้อนเป็นขนาด 16 จะอ่านง่าย
ปาก ถ้ารู้สึกปากแห้งอาจเป็นเพราะขาดน้ำ
18.00 น. ปัดความกังวลไปซะ
คิดเรื่องอะไรที่กลัดกลุ้มใจอยู่รึเปล่า? จดลงกระดาษแล้วขยำทิ้งลงถังขยะไปเลย ถ้าคุณปฏิบัติกับความกังวลเหมือนขยะ มันก็จะไม่ทำให้คุณอ่อนล้า
19.00 น. กินอย่างฉลาด
อาหารค่ำที่คุณเลือกจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอน และระดับพลังงานในวันต่อมา นักโภชนาการแนะให้แซลมอนแล่บาง ๆ กับผักโขม และมันเทศฝานเป็นแว่น จะเพียบด้วยแมกนีเซียมซึ่งช่วยการนอนเพราะผ่อนคลายระบบประสาทกับบรรเทาความกังวล กฎเหล็กคือกินอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนซึ่งเป็นเวลาที่ต้องใช้สำหรับอาหารผ่านกระบวนการในท้อง และเพิ่มอุณหภูมิร่างกายชั่วคราว
19.30 น. ปรับท่านั่ง
เทคโนโลยีจัดเป็นตัวบั่นทอนพลังงานโดยเฉพาะตอนค่ำ ทำให้อยู่ในสภาพถูกปลุกเร้าจนร่างกายอ่อนล้า ไม่นับที่รบกวนกระบวนการนอน ถ้าไม่อยากปิดสวิชท์เครื่องใช้ไปเลยก็ให้ทำดังนี้
- ปิดความจ้าของจอคอมฯลง การมองจอจ้านาน 2 ชั่วโมงลดการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินไป 4 เท่า จอควรจ้าแต่พอมองเห็นขนาดห่างหนึ่งศอกโดยไม่ต้องเพ่ง
- ใช้จอใหญ่เข้าไว้ จอเล็กทำให้ต้องชะโงกเข้าไปดู จึงรับแสงมากเกินไป
– เลี่ยงข้อมูลเครียด หมายถึงอีเมล์เรื่องงาน ถ้ามีปัญหาการนอนก็เลี่ยงเฟซบุคกับทวิตเตอร์ซึ่งจะทำให้วุ่นวายใจ
20.20 น. อาบน้ำผ่อนคลาย
อุณหภูมิธรรมชาติของร่างกายลดลงใกล้เวลานอนเป็นการสั่งสมองว่าถึงเวลานอนแล้ว คุณเริ่มต้นด้วยแช่น้ำอุ่น 20 นาที ก่อนเข้านอน พออาบเสร็จร่างกายจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว ช่วยให้หลับเร็ว และหลับนานจึงได้พักเต็มที่
21.49 น. ดิ่งขึ้นเตียง
คงไม่ต้องบอกว่าถ้านอนไม่พอ จะตื่นขึ้นมาอย่างอ่อนเพลียไร้พลังงานในเช้าวันต่อมา แล้วอย่างงี้
เที่ยงคืน
ปัญหา
คุณยังตื่นลืมตาโพลงอยู่ เหตุผลที่เป็นไปได้คือตอนก่อนเข้านอน สมองยังไม่สงบนิ่งพอ ดังนั้นจึงใช้เวลานานกว่าจะผ่อนคลาย
ทางแก้
ให้มุ่งเน้นไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย เช่น แขนซ้าย แล้วคิดว่ารู้สึกยังไง ร้อนหรือเย็นกว่าแขนขวา? หนักหน่วงมั๊ยตอนวางแขนบนที่นอน? อย่าทำอะไรแค่คิดแล้วผ่านเลยไป หรือวิธียอดฮิต นับแกะ 1..2..3… จนกว่าจะหลับ ฟังดูง่าย ๆ ใช่มั๊ยละ ซึ่งการใช้ความคิดแบบนี้จะทำให้คุณสงบ และช่วยคุณหลับลงได้ง่ายขึ้นนะ
ตี 2 – ตี 3
ปัญหา
คุณตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งการตื่นตอนดึกจัดเป็นเรื่องปกติ ปัญหาก็คือนอนต่อไม่หลับนี่สิ
ทางแก้
การนอนเปิดพัดลมเพื่อสร้างเสียงกล่อม เป็นการลดความแตกต่างระหว่างเสียงดังรอบข้างและเสียงไม่ปกติ ถ้าเสียงไม่ใช่ตัวปัญหาทำให้ลุกขึ้นทำอะไรที่ชอบ นั่นหมายความว่าจำเป็นต้องนอนมากกว่านี้
เป็นยังไงกันบ้างหละคะกับเคล็ดลับ เติมความสดชื่น ให้คุณสดใสได้ทั้งวัน ที่เราได้แนะนำมานั้น อย่าลืมนำไปปฏิบัติกันนะคะ
Pic & Source : Pinterest , Chrisvun